มาตรฐานท่อไฟฟ้า HDPE


ท่อร้อยสายไฟฟ้าพีอี หรือ HDPE Conduit เหมาะสำหรับใช้เป็นท่อร้อยสายไฟ สายเคเบิ้ล สายโทรศัพท์ หรือสายไฟเบอร์ออฟติค (Sub Duct) ทั้งงานบนดิน และงานฝังใต้ดิน  

ลักษณะภายนอกท่อพีอี ไฟฟ้า คือ ท่อมีสีดำ เรียบมัน มีแถบคาดสีส้ม ซึ่งการใช้สีเป็นการช่วยแยกชนิดท่อระหว่าง ท่อพีอี ไฟฟ้า คาดสีส้ม กับ ท่อพีอี ประปา ที่มีแถบคาดสีฟ้าหรือไม่มีแถบสีคาด

ท่อพีอี ผลิตจากพลาสติก พอลิเอทิลีน ชนิดความหนาแน่นสูง (High Density Polyethylene) ซึ่งมีคุณสมบัติ คือ ทนแรงกด ทนแรงดึง ทนแรงกระแทก ไม่แตกง่าย มีความยืดหยุ่น ทนสารเคมี ไม่เป็นสนิม ไม่ผุกร่อน สามารถฝังกลบ บริเวณที่มีการทรุดตัวของดินได้

ท่อ PE ไฟฟ้า มีขนาดตั้งแต่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 20 มิลลิเมตร ถึง 200 มิลลิเมตร โดยมาตรฐานความยาวต่อท่อน คือ 6 และ 12 เมตร ขณะที่ความยาวต่อม้วน คือ 50 และ 100 เมตร

มาตรฐานการผลิตของท่อพีอี ไฟฟ้า อ้างอิงตามข้อกำหนดทางวิศวกรรมของการไฟฟ้านครหลวง และอ้างอิงผนังท่อตามมาตรฐาน DIN 8074/8075 และมาตรฐานท่อ มอก.982-2556
     
   มาตรฐานการไฟฟ้า 95%ของการใช้งานโดยทั่วไปในประเทศไทยและต่างประเทศ ใช้ มาตรฐานอ้างอิงข้อกำหนดทางวิศวกรรมของการไฟฟ้านครหลวง ที่PN6 Class1 DIN8074/8075 เป็นมาตรฐานหลักในการใช้งาน ซึ่งใช้ในโครงการใหญ่ทั่วประเทศ เช่น โรงไฟฟ้า สนามบิน โครงการสร้างทางรถไฟฟ้า อาคารคอนโด บ้านที่อยู่อาศัย

        มาตรฐานมอก. 5%ของการใช้งานท่อไฟฟ้าHDPE ใช้มาตรฐาน มอก.982-2556 (มาตรฐานของท่อน้ำ HDPE มาคาดสีส้ม) เพราะในปัจจุบันไม่มีมาตรฐานมอก.สำหรับท่อ HDPE ไฟฟ้าโดยเฉพาะ ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ใช้กันโดยทั่วไป หรือเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ แต่เพื่อให้ถูกต้องตามเงื่อนไขการสกรีน มอก.บนผลิตภัณฑ์ จะต้องผลิตตามมาตรฐานที่ใช้อ้างอิง ผู้ผลิตจึงนำมาตรฐานของท่อน้ำHDPEมาใช้  แม้ไม่นิยมใช้ แต่จะมีการใช้งานมาตรฐานนี้ในบางงานโครงการที่มีการวางข้อกำหนดมาโดยผู้ออกแบบหรือเจ้าของโครงการเท่านั้น

       ในทางปฎิบัติ ถือว่าใช้ได้ทั้งสองแบบ แม้ มาตรฐานมอก.จะไม่ตรงกับข้อกำหนดทางวิศวรกรรมของทางการไฟฟ้าก็ตาม แต่ด้วยความที่ท่อมีความหนาที่มากกว่าเล็กน้อย จึงสามารถนำมาใช้แทนกันได้ แต่ไม่เป็นที่นิยมกันโดยทั่วไป เนื่องจากสิ้นเปลือง และไม่คุ้มค่าต่อต้นทุนการใช้งาน กล่าวคือไม่ได้ประโยชน์ที่มีประสิทธิภาพในการใช้งานกว่านั่นเอง โรงงานในประเทศไทยจึงไม่นิยมผลิตเพื่อจำหน่าย ในส่วนของมาตรฐาน มอก.982-2556 (ท่อน้ำคาดส้ม) จะผลิตตามออร์เดอร์ที่มีจำนวนขั้นต่ำสำหรับลูกค้าโครงการเฉพาะเท่านั้น

       มีผู้ใช้งานจำนวนมากเข้าใจผิดและสับสนกับมาตรฐานของท่อ HDPE ไฟฟ้า ว่ามี มาตรฐาน มอก. สำหรับท่อ HDPE ไฟฟ้า โดยเฉพาะ  หรือเข้าใจว่าท่อที่มีมาตรฐานเชื่อถือได้ต้องมี มอก. ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริงของมาตรฐานอุตสาหกรรมในประเทศไทย และไม่เป็นที่ยอมรับกับในระดับนานาชาติ ทางมอก.จึงไม่ออกข้อกำหนดนี้ออกมาเพื่อใช้งานอ้างอิง

      ผู้ใช้งานทั่วไปและงานโครงการขนาดใหญ่ จึงนิยมเลือกใช้ท่อHDPE ไฟฟ้า PN6 Class1 สำหรับงานก่อสร้างแนวร้อยสายไฟฟ้า ตามมาตรฐานเป็นส่วนใหญ่     ตรวจสอบมาตรฐาน มอก. คลิกที่นี่  Link สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม ตรวจสอบ มอก.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *